วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วีดีโออธิบายการเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำอย่างถูกวิธี


          @ วีดีโอชุดนี้ จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการอธิบายการเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำ ที่ถูกวิธี โดยจะอธิบายขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่การตรวจสอบระบบก่อนการเปิดเครื่อง จนถึงการปิดเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ   

การออกแบบระบบชลประทาน ภาค ๒

ภาค ๒ จะกล่าวถึง ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกระบบชลประทาน , ความสัมพันธ์ของดินน้ำพืช , กำหนดการให้น้ำแก่พืช , การทดสอบความชื้นอย่างง่ายด้วยตัวเอง , ปริมาณน้ำที่พืชต้องการใช้ต่อฤดูกาล , ดินกับกำหนดการให้น้ำ เป็นต้น


          @ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ผู้ออกแบบระบบการให้น้ำพืชจะต้องทราบ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบระบบการให้น้ำแบบต่างๆ
          
          @ ขั้นตอนต่อไป ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบระบบการให้น้ำประสิทธิภาพสูง ได้แก่ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ และการให้น้ำแบบหยด และการคำนวณขนาดท่อส่งน้ำ

การออกแบบระบบการให้น้ำพืช ภาค ๑ การชลประทานและรูปแบบของการชลประทาน

          @ การออกแบบระบบการให้น้ำพืชนั้น เป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งระบบการให้น้ำพืชรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยต้องใช้องค์ความรู้หลายแขนงมาคิดพิจารณา เพื่อให้ได้ผลลัพท์ออกมาที่เหมาะสมที่สุด เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เหมาะสมกับเงินลงทุน การออกแบบที่ขาดการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ถี่ถ้วน ย่อมห่างไกลจากการประสบผลสำเร็จ 
          @ ในบทความบทนี้ จะกล่าวถึงเรื่องการออกแบบระบบการให้น้ำแก่พืช หรืออาจจะเรียกว่าการออกแบบระบบชลประทาน (Irrigation System Design) ซึ่งจะกล่าวในแง่มุมต่างๆ และเพื่อให้ง่ายในการศึกษา ผู้เขียนจะขอนำเสนอผ่านรูปภาพที่ได้จากการแปลงข้อมูลเอกสารการบรรยายของผู้เขียนเอง โดยจะแบ่งออกเป็นหลายภาค ตามความเหมาะสม   


ภาคที่ ๑ การชลประทานและรูปแบบของการชลประทาน





          @ พักดูบรรยากาศในห้องอบรม กันบ้าง

เข้มข้นด้วยเนื้อหา

เข้าใจกันไหมละเนี่ย

นิดนึง

ระบบสวนครัวน้ำหยด ภาคปฐมบท

ความเป็นมา
......งานวิจัยของผมชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยลักษณะโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ผมดูแล ได้เข้าถึงระบบน้ำที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาถูก เรียนรู้ได้ง่าย วัสดุอุปกรณ์เกษตรกรสามารถหาซื้อได้เอง และที่สำคัญจะต้องเป็นระบบที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกเพศและทุกวัย
......โจทย์ในการทำวิจัยของผมดังข้างต้นที่กล่าวมา แม้ว่าระบบน้ำหยดและระบบสวนครัวน้ำหยดนี้จะเข้ามาในประเทศตั้งแต่ ๑๐ กว่าปีที่แล้วตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ และผมได้ทดลองใช้ระบบนี้ในการปลูกจริงก็พบว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่สูงมาก ประหยัดน้ำประหยัดเวลาประหยัดแรงงาน หรือจะกล่าวโดยรวมแล้วก็เป็นระบบที่มีข้อดีที่เยอะมาก เหมาะสำหรับเกษตรกรเมืองไทยมากๆ และเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกินพอเพียง ด้วยเน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง คือเพื่อเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักไว้บริโภคเองในครัวเรือน เหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ แต่.......
.......จากวันที่ผมได้ทดลองระบบครั้งแรกจนถึงวันที่ผมได้ตระเวนไปทั่วภาคเหนือภาคอีสานผมก็ยังเห็นเกษตรกรต้องลำบากในการให้น้ำพืชอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง จะด้วยเหตุผลใดผมก็ไม่ทราบได้ แต่ในความคิดของผม ผมเชื่อมั่นว่าระบบสวนครัวน้ำหยดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน ผมจึงเสนอแนวคิดนี้ต่อเจ้านายผม ซึ่งเจ้านายผมท่านก็เห็นด้วยและก็สนับสุนนผมเป็นอย่างดี ให้เงินทุนวิจัยมาก้อนหนึ่ง ทำให้ผมได้สานต่อความคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเมืองไทยให้พึ่งพาตนเองให้ได้ ตามปณิธานและแนวทางเศรฐษกิจพอเพียงของพ่อหลวงที่ผมยึดเป็นแนวทางในการทำงาน ...........

ผลงานชิ้นนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ แต่ตัวรูปเล่มรายงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งตัวผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่เกิดจากการทำงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้นี้ หากท่านที่ได้เข้ามาอ่านแล้ว จะช่วยผมเผยแพร่ผมก็ยินดีอย่างยิ่ง แต่หากต้องการนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลไปเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือหน่วยงานเพื่อทำผลงาน กรุณาขออนุญาตก่อนนะครับ องค์ความรู้นี้ไม่ได้หวงแต่อย่างใด แต่ผลงานทั้งหมดก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานผม


มาทำความรู้จักระบบสวนครัวน้ำหยดกันเถอะ

ระบบสวนครัวน้ำหยด ก็คือระบบการให้น้ำแบบหยด (Drip Irrigation) ซึ่งระบบสวนครัวน้ำหยดนี้เป็นการนำเอาข้อดีต่างๆ ของระบบน้ำหยด เช่น เป็นระบบที่สามารถใช้ได้กับพืชและดินหลายหลายชนิด ประหยัดน้ำ ประหยัดแรงงาน มีประสิทธิภาพการใช้น้ำที่สูงมาก เป็นต้น มาประยุกต์ปรับให้มีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ต้องการให้น้ำขนาดเล็ก ในการทำการวิจัยนี้ กำหนดให้ใช้พื้นที่ไม่เกิน ๑๖๐ ตารางเมตร ระบบสวนครัวน้ำหยดนั้นจะเป็นระบบที่ใช้แรงดันน้อย (๐.๑ - ๐.๒ บาร์) ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำในการส่งน้ำและสร้างแรงดันให้แก่ระบบ จึงเป็นระบบที่ง่ายสามารถใช้ได้ในหลากหลายพื้นที่แม้แต่พื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ก็ตาม
                                                                        
@  ระบบการให้น้ำแบบน้ำหยดสำหรับครัวเรือน (Family Dripping System) หรือ ระบบสวนครัวน้ำหยด เป็นวิธีการให้น้ำแก่พืชอีกวิธีหนึ่งสำหรับแปลงปลูกพืชผัก ซึ่งมีประสิทธิภาพการให้น้ำสูง ใช้แรงดันน้ำน้อย ค่าลงทุนไม่สูงมาก เทคนิคการใช้และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก แต่ให้ผลตอบแทนทางการผลิตสูง   
@ ระบบการให้น้ำวิธีนี้ได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย และสามารถใช้งานได้ง่ายเหมาะสำหรับการใช้งานเฉพาะครัวเรือนใช้พื้นที่น้อย เช่น พื้นที่ว่างบริเวณบ้าน คันสระน้ำประจำไร่นา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี เหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปขายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวได้    
@ ระบบสวนครัวน้ำหยด สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ 500 – 4,000 บาท ต่อฤดูกาลปลูก ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกษตรกรได้รับรายละ 2,500 บาทแล้ว การคืนทุนนั้นหากเกษตรกรปลูกเพื่อการพาณิชย์ในพื้นที่ ไม่เกิน 160 ตารางเมตร สามารถทำได้ตั้งแต่การปลูกฤดูกาลแรกหรืออย่างช้าไม่เกิน1ปี
ข้อดีของระบบสวนครัวน้ำหยด
1. ประสิทธิภาพการให้น้ำสูงมาก พืชได้รับน้ำสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง 
2. ประหยัดน้ำ ( 50 ลบ.ม. ต่อฤดูกาลปลูกต่อแปลงปลูก)
3. ประหยัดแรงงาน
4. ประหยัดเวลาในการให้น้ำ (10 – 30 นาทีต่อการน้ำ 1 ครั้ง)      
5. สามารถใช้งานได้ดีกับดินและพืชทุกชนิด
6. ใช้งานและดูแลรักษาง่าย สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้งานได้     
7. ค่าใช้จ่ายในการใช้งานระบบถูกมาก เทียบเป็นค่าน้ำมันหรือค่าไฟฟ้าแล้วใช้ไม่เกิน 200 บาทต่อ 1 ฤดูกาลปลูก (ไม่เกิน 4 เดือน)
รูปแบบของระบบสวนครัวน้ำหยด
@ สำหรับรูปแบบการติดตั้งนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ปลูก อาจจะตั้งถังน้ำตรงกลางก็ได้ ถังน้ำตั้งด้านข้าง แล้วแต่ความเหมาะสมครับ
@ การต่อท่อนั้น เนื่องจากระบบนี้มีความดันในระบบน้อย ผมจึงแนะนำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่า ไม่จำเป็นต้องต่อท่อด้วยกาวครับ เพราะง่ายในการถอดเคลื่อนย้ายครับ

รายการอุปกรณ์ระบบสวนครัวน้ำหยด

การนำไปใช้งานในโครงการนำร่อง จ.มหาสารคาม 
@ แรกเลย ผมจะคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจในการปลูกพืชผัก โดยเฉพาะคนที่ทำอยู่แล้วจะให้สิทธิ์ก่อน เพราะถือว่าจะวัดผลการใช้งานได้ง่ายกว่า คนที่ไม่เคยปลูกพืชซึ่งจะยุ่งยากกว่า
@ สำหรับพื้นที่ปลูก ผมกำหนดให้ประมาณ ๑๖๐ ตารางเมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ตรงไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเลือกริมสระน้ำประจำไร่ หรือพื้นที่นาที่ว่างเว้นจากการทำนาปี
@ ชนิดของพืช ก็แล้วแต่เกษตรกรต้องการ พืชสวนครัว พืชไร่ ตามที่เกษตรกรต้องการปลูกครับ พืชที่ปลูกก็ค่อนข้างหลากหลายครับ เช่น ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบขาว พริก มะเขือเทศ ฟักทอง ผักชี บวบ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงข้อดีของระบบสวนครัวน้ำหยดที่สามารถนำไปใช้กับพืชได้อย่างหลากหลาย
@ เมื่อได้เกษตรกร (รับเพียง ๑๐ ราย) แล้ว ก็นัดวันชี้แจงโครงการ และเกษตรกรจะต้องเข้าอบรมเรื่องระบบน้ำกับผมก่อน ๒ วัน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เรื่องความรู้นี้สำคัญมากครับ ถ้าเกษตรกรเข้าใจแล้วก็สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องครับ
๒. การอบรมให้ความรู้ เรื่องระบบการให้น้ำแบบต่างๆ ระบบเครื่องสูบน้ำ  โดยเฉพาะระบบสวนครัวน้ำหยด การอบรมใช้ระยะเวลาการอบรม ๒ วัน ครับ สถานที่ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดในหมู่บ้านครับ
บรรยากาศเป็นกันเองครับ


เข้มข้นด้วยเนื้อหา



@ สำหรับเนื้อหาที่ใช้ในการอบรมนั้น ผมได้พยายามปรับปรุงอยู่หลายครั้งเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของเกษตรกร โดยชุดนี้ได้ปรับจากที่ไปบรรยายในโครงการต้นกล้าอาชีพมา จึงคิดว่าน่าจะไม่ยากจนเกินไปนัก ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์เคยทำมาบ้างแล้ว เลยทำให้การบรรยายกาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังถือโอกาสชี้แจงการเก็บข้อมูลต่างๆ จากการใช้งานระบบด้วย 


๑. หลังจากที่อบรมให้ความรู้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม โดยที่ก่อนหน้าที่จะเข้าพื้นที่ ผมได้ประสานให้เกษตรกรเตรียมแปลง เตรียมเมล็ดพันธุ์ให้พร้อมปลูกกรือเพาะเบี้ยเตรียมไว้สำหรับพืชบางชนิด และให้เตรียมที่ตั้งถังน้ำไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ลงมือกันเลย การติดตั้งนี้เกษตรกรจะไปช่วยกันติดตั้งจนแล้วเสร็จ โดยที่ผมจะทำให้ดูก่อนจากนั้นเกษตรกรต้องติดตั้งเอง ผมจะคอยควบคุมและแนะนำอยู่ใกล้ๆ ครับ
พื้นที่ที่เตรียมติดตั้งระบบ

ปลูกริมสระน้ำประจำไร่นา ถึงน้ำจะขุ่นแต่ก็ใช้ได้ครับ

แนะนำวิธีการติดตั้งข้อต่อเทปน้ำหยด

เจาะรูก้นถัง โดยใช้โฮซอ วิธีการเจาะให้เจาะเหนือก้นถังเล็กน้อยเพื่อป้องกันตะกอนที่จะเข้าระบบ

ติดตั้งวาล์วพีวีซีและชุดกรอง กรองที่ใช้แนะนำให้ใช้กรองชนิดตะแกรงเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก

เจาะรูท่อเพื่อติดตั้งข้อต่อเทปน้ำหยด

ติดตั้งข้อต่อเทปน้ำหยดและเทปน้ำหยดเข้ากับท่อพีวีซี

เมื่อติดตั้งเสร็จก็ทดสอบระบบ ลองเปิดน้ำ




๒. เมื่อติดตั้งทุกอย่างเรียบร้อยจนครบทุกแปลง เกษตรกรก็จะปลูกพืชในพื้นที่ที่เตรียมไว้ โดยเกษตรกรจะเป็นผู้จดบันทึกค่าต่างๆ เช่น วันและเวลาที่ให้น้ำและปริมาณน้ำที่ในแต่ละวัน การให้ปุ๋ยและปริมาณปุ๋ย เป็นต้น ผมก็จะออกมาติดตามผลทั้งสิ้น ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ หลังจากเกษตรกรปลูกพืชได้ประมาณ ๑ เดือน

ข้าวโพด ดูดีทีเดียว

ถั่วฝักยาว

นี่ก็ถั่วฝักยาว ดูดีทีเดียว

ผักชี แค่ ๓ แปลง เล็กๆ ได้ ๔,๕๐๐ บาท
ครั้งที่ ๒  หลังจากผ่านไปประมาณ ๒ เดือนกว่า
พริกต้นไม่สวยเท่าไหร่ เพราะปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด แต่ก็พอกินจนเหลือขายทีเดียว

กระเจี๊ยบขาวและถั่วฝักยาว

แปลงถั่วฝักยาว ให้ผลผลิตแล้ว

ฟักทอง เก็บแค่ยอดและดอกขายก็ได้ไป ๓,๐๐๐ กว่าบาทแล้ว

เก็บข้อมูลโดยละเอียด
ครั้งที่ ๓ เป็นการเก็บข้อมูลครั้งสุดท้ายพร้อมทั้งสรุปบทเรียน เพื่อให้ทราบผลการทดลองใช้ระบบ ทั้งข้อดีข้อเสีย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน และความพึงพอใจของผู้ใช้งาน
แปลงผักชีอินทรีย์

พริกอินทรีย์

เจ้านายตามมาดูผลงาน

สรุปบทเรียน
@ การเก็บข้อมูลเชิงลึก เป็นการเก็บข้อมูลเชิงวิศวกรรม เพื่อดูประสิทธิภาพของระบบ โดยดูจากปริมาณน้ำที่หยดจากรูจ่ายน้ำของเทปน้ำหยด หลังจากผ่านการใช้งานไปประมาณ ๒ เดือน เหตุที่ต้องทำเพราะว่าน้ำที่นำมาใช้กับระบบนั้น เป็นน้ำจากสระประจำไร่นาซึ่งมาความขุ่นมาก จึงต้องการทราบการอุดตันของรูเทปน้ำหยด โดยทดลองวางแก้วกาแฟแปลงปลูกพืชในจุดต่างๆ จากนั้นก็เปิดน้ำเป็นเวลา ๕ นาที วัดปริมาณน้ำที่ได้ในแก้วแต่ละใบ นำมาเปรียบเทียบกัน ผลการทดลองพบว่า น้ำที่เก็บได้จากการทดลองมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ทราบว่าน้ำจากสระประจำไร่นานั้นสามารถใช้กับระบบเทปน้ำหยดได้ 
เปิดน้ำใส่ให้เต็ม

ล้างไส้กรองให้สะอาด
@ เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เตรียมทดลองเลย
อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำ

เปิดให้น้ำเป็นเวลา ๕ นาที

น้ำที่ได้จากการสุ่มวัดในแปลงมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

จากนั้นก็วัดปริมาณน้ำที่ได้โดยใช้หลอดฉีดยา
@ จากการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้พบว่า ระบบสวนครัวน้ำหยดนั้น สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่ของเกษตรกร เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการใช้งานของระบบมาก และพบว่าการเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความมั่นใจในระบบน้ำหยดมากยิ่งขึ้น บางรายมีแผนที่ลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดเพิ่มเติม ทั้งนี้ข้อดีที่สำคัญของระบบที่ได้จากการทำวิจัยครั้งนี้คือ ช่วยให้ในฤดูแล้งเกษตรกรสามารถปลูกผักได้แม้ปริมาณน้ำในสระประจำไร่นาจะเหลือน้อยก็ตาม เพราะจากข้อมูลที่เก็บได้ แปลงที่ใช้น้ำมากสุดนั้น ใช้น้ำไปทั้งสิ้น ๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อฤดูกาลปลูก (ไม่เกิน ๑๒๐ วัน) ทั้งยังมีต้นทุนในการนำน้ำขึ้นถังพักเพียง ไม่เกิน ๒๐๐ บาท (เทียบเป็นปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำขึ้นถังพัก) 

ปล. สำหรับการต่อยอดระบบสวนครัวน้ำหยดดูได้จากบทความเรื่องสวนครัวน้ำหยด (เพื่อน้อง) ซึ่งจะมีการนำระบบสวนครัวน้ำหยดไปประยุกต์ใช้กับมะละกอ  

                                                                                       ธราวุฒิ  ไก่แก้ว 
                                                                                     วิศวกรการเกษตร
                                                                     สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
                                                                                   ๒๕  ตุลาคม ๒๕๕๔