วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ระบบสวนครัวน้ำหยดขยายผลทั่วประเทศ โดย ส.ป.ก.

ระบบสวนครัวน้ำหยดขยายผลทั่วประเทศ โดย ส.ป.ก. 


นับจากปี พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผู้เขียนได้เริ่มโครงการนำร่องระบบสวนครัวน้ำหยดในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. เริ่มแรกได้ดำเนินการไป ๑๐ ราย พบว่าโครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์พอสมควร แต่โครงการก็ได้หยุดไประยะเวลาหนึ่งตามนโยบายที่ได้รับผิดชอบ

ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศไทยประสบวิกฤติภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความแห้งแล้งเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามหามาตรการเร่งด่วนมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศ ทุกกรมที่อยู่ภายใต้กระทรวงพยายามหาวิธีทางช่วยเหลือตามนโยบายเร่งด่วนนั้น ส.ป.ก. เองก็ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งจึงได้พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน และระบบสวนครัวน้ำหยดก็ได้ถูกหยิบยกมาเป็นมาตราการหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านน้ำแล้งในช่วงดังกล่าว  จึงเกิดเป็นโครงการระบบสวนครัวน้ำหยดภาคขยายผลไปทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนที่สำคัญจากคณะผู้บริหารทุกระดับชั้นของ ส.ป.ก. เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด มีการจัดทำโครงการจากส่วนกลาง การจัดทำโครงการจาก ส.ป.ก.จังหวัด จัดทำคู่มือสิ่งพิมพ์เผยแพร่ จัดทำวีดีโอแนะนำขั้นตอนการติดตั้ง นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนำไปตีพิมพ์และออกอากาศ ทำให้ระบบสวนครัวน้ำหยดได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างแพร่หลาย และเกษตรกรหลายๆ รายยังได้นำรูปแบบไปปรับปรุงดัดแปลงใช้งาน

ระบบสวนครัวน้ำหยดเป็นระบบน้ำที่เกิดจากรูปแบบที่นำมาจากต่างประเทศแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ประเทศไทย มีการทดสอบทดลองและเก็บข้อมูลใช้งานในหลายพื้นที่  ทำให้มั่นใจได้ว่าระบบสวนครัวน้ำหยดเป็นระบบน้ำที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับพืชหลากหลายชนิดในทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

แนวคิดที่สำคัญของการทำโครงการระบบสวนครัวน้ำหยดก็คือ ต้องเป็นระบบน้ำงอย่างง่ายๆ ที่เกษตรกจับต้องได้และมีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน กล่าวคือ 

ต้อง .... ราคาถูก 
ต้อง .... ติดตั้งง่าย 
ต้อง .... ใช้งานได้จริง 
ที่สำคัญที่สุดคือต้องประหยัดน้ำในการใช้ปลูกพืช 

จากผลการทำลองทดสอบที่ผ่านมาทำให้มั่นใจได้ว่าระบบสวนครัวน้ำหยดเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักได้แม้จะมีน้ำต้นทุนน้อย ช่วยให้เกษตรกรมีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือการบริโภคก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้  และเมื่อเกษตรกรมีความชำนาญในตัวระบบแล้วจะช่วยเป้นแนวทางให้เกษตรกรสามารถขยายผลไปทำในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

ในบทความนี้จะนำโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายๆ พื้นที่มาให้ดูเป็นตัวอย่างแนวทางในการนำไปใช้งาน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นรูปแบบการนำไปใช้งานที่หลากหลาย และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน

คำแถลง .... ในบทความนี้จะเน้นรูปภาพนะครับ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับท่านที่สนใจ 

สู้วิกฤติภัยแล้งด้วยระบบสวนครัวน้ำหยด 


รูปแบบระบบสวนครัวน้ำหยด


ระบบสวนครัวน้ำหยดช่วยให้สามารถปลูกพืชในพื้นที่แห้งแล้งได้

ใช้ได้ดีกับพืชทุกชนิด

กับข้าวโพด

สนับสนุนนโยบายจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกิน

ใช้กับแปลงผักที่ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร

เกษตรกรหลายๆ รายนำไปใช้กับกล้วย

ใช้กับกล้วยและพืชพัก

แปลงนี้ใช้กับผักกูดและพืชผักอื่นๆ

ระบบสวนครัวน้ำหยดสามารถใช้ในโรงเรือนก็ได้เช่นกัน

แปลงข้าวโพดหวาน

ใช้กับแปลงชะอม

แปลงข้าวโพดและพืชผักอื่นๆ

แปลงพริกกับข้าวโพด

ถั่วฝักยาว พริก และผักอื่นๆ ข้างบ้าง
แปลงทดลองปลูกข้าวโพด

ผลผลิตจากแปลง ๒๐๐ ตารางเมตรเกือบ ๔๐๐ กิโลกรัม
นำไปส่งเสริมในโรงเรียนตามโครงการอาหารกลางวัดเด็กนักเรียน

สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน

บ้านหลังน้อยถูกสร้างง่ายในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรจาก ส.ป.ก. ระบบสวนครัวน้ำหยดเข้าไปมีสร่วนช่วยในกระบวนผลิตพืชผักทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการขายในชุมชน


จากภาพตัวอย่างที่ดำเนินโครงการระบบสวนครัวน้ำหยด มีหลายแปลงที่เกษตรกรสามารถต่อยอดการปลูกพืชจนนำไปสู่การผลิตเพื่อการค้า จากการเริ่มต้นจากพื้นที่น้อยๆ เรียนรู้ระบบจนชำนาญและเกิดความเชื่อมั่นในระบบจนนำไปสู่การขยายผล 

จากความตั้งใจที่ต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรมีพืชผักบริโภคตลอดทั้งปี ลดรายจ่ายในครัวเรือน และมีความมั่นคงทางด้านอาหาร วันนี้โครงการระบบสวนครัวน้ำหยด โครงการเล็กๆ ระบบน้ำเล็กๆ กับความฝันที่ยิ่งใหญ่ ฝันเห็นคนเกษตรกรไทยมีความรู้ความชำนาญในด้านระบบน้ำ เพราะน้ำนั้นสำคัญต่อทุกชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ และน้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก การส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้เรื่องการใช้น้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ 

การพัฒนาด้านการเกษตร สำคัญคือต้องพัฒนาเกษตรกร แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเกษตรกรไทยยังขาดความรู้เรื่องระบบการให้น้ำพืชอีกมาก ที่ผ่านมาการให้น้ำพืชเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูกและสุ่มเดาตามประสบการณ์  เหตุนี้เองทำให้ผู้เขียนพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งผ่านความรู้เรื่องระบบน้ำไปยังเกษตรกรในหลายๆ วิธี เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ในเรื่องระบบน้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ดี อันจะช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ผลผลิตที่ดี ลดภาระในการรดน้ำพืช ลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการขาดน้ำ และมั่งหวังอยากให้เกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนสืบไป


ธราวุฒิ ไก่แก้ว 
วิศวกรการเกษตร 
๑๙ กรกฏาคม ๒๕๖๐